มะเร็งปอด มะเร็งตับ และอีกหลากหลายมะเร็ง ซึ่งเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่มะเร็งอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่เป็นแล้วลุกลาม มักตรวจไม่พบ กว่าจะตรวจพบ ก็ถึงขั้นไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้แล้ว!
นพ.ดนัยพันธุ์ อัครสกุล หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตรวจไม่ค่อยพบมะเร็งไตในอดีต เพราะจุดที่เกิดมะเร็งชนิดนี้อยู่ด้านใน คือหลังช่องท้อง แพทย์มักจะคลำไม่พบ และกว่าจะตรวจเจอ มะเร็งก็มักจะมีขนาดใหญ่ไปแล้ว เพราะฉะนั้น สมัยโบราณ ถ้าตรวจเจอเมื่อไหร่ก็หมายถึงว่าเข้าสู่ช่วงอาการที่แย่เต็มทีแล้ว
“แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าจะเจอเยอะขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น เรามีการสกรีนนิ่งหรืออัลตราซาวน์ และสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้มะเร็งไตแพร่หลายมากขึ้นก็เนื่องจากมลภาวะของโลกปัจจุบัน พวกสารเคมี บุหรี่ หรือสารจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำให้การเกิดมะเร็งไตสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”
มะเร็งไตแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเกิดตรงบริเวณไตที่มีลักษณะเหมือนกับเซี่ยงจี้ ส่วนอีกจุดจะเกิดตรงบริเวณกรวยไต แต่มะเร็งกรวยไต มักจะถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในหมวดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพราะเป็นเนื้อเยื่อเดียวกัน ในแง่ของอัตราส่วน ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไตมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 ต่อ 1 ขณะที่พันธุกรรมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
“เพราะสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งไตนั้น มันจะไปกระทบที่ตัวยีนก่อน ทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วจากนั้นก็มีสารเคมีอีกตัวหนึ่งซึ่งไปเสริมให้เซลล์มะเร็งเกิดการขยายตัวเป็นก้อนใหม่ ที่สำคัญ พบว่ามะเร็งไตเจอในคนที่มีอายุน้อยลง แตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีอายุมากหน่อย อายุ 40 กว่าๆ ขึ้นไป ก็อาจเป็นมะเร็งไตได้แล้ว” นพ.ดนัยพันธุ์ กล่าว
สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่า มะเร็งไตไม่เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะเป็นมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาทุกอย่าง ไม่ตอบสนองต่อการฉายแสง อีกทั้งเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งไตก็ไม่มี นพ.ดนัยพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า อาจจะมียาบางตัวซึ่งใช้ได้กับมะเร็งไต แต่ตัวยาก็มีราคาที่สูงมาก
ดังนั้น ก่อนจะถูกมะเร็งชนิดนี้คุกคาม นพ.ดนัยพันธุ์ ชี้ว่า การดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรค จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญก็คือ ต้องหยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ถือเป็นปัจจัยหลักของมะเร็งทุกอย่าง ส่วนเรื่องของอาหาร ก็พยายามรับประทานอาหารที่ปลอดจากสารเคมี
ที่มา : เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์