วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขอเชิญผู้รับผิดชอบงาน SRRT เข้าร่วมปรึกษาหารือในการควบคุมโรคมือเท้าปาก


ขอเชิญผู้รับผิดชอบงาน SRRT  เข้าร่วมปรึกษาหารือในการควบคุมโรคมือเท้าปาก  ในวันที่  ๓๐  สิงหาคม ๒๕๕๕  เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ สถานีอนามัยเชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี
                 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
                                                  ขอแสดงความนับถือ 
                                                 นางสาวสิริญา   ไผ่ป้อง
                                            นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อึ้ง! คนกรุงรู้จักผัก 8 ชนิด เหตุบริโภคน้อยลง

เทศกาลกินเปลี่ยนโลก



วันนี้ (4 ส.ค.) ที่สวนสันติชัยปราการ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงาน “เทศกาลกินเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 1” Taste of food ซึ่งจัดโดย มูลนิธิชีววิถี (BioThai) แผนงานความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2561 ดัชนีของราคาอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งจะกระทบต่อความมั่งคงทางอาหาร ซึ่งประเทศไทยเริ่มประสบกับปัญหาราคาอาหารแพงมาระยะหนึ่ง และพบว่ายังมีปัญหาโภชนาการด้วย จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด พบว่า มีคนไทยอ้วนมากกว่า 17 ล้านคน โดยเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 12 ปี จะมีความอ้วนสูงถึง 40% ในจำนวนนี้เมื่อเจาะหาไขมันในร่างกายพบ 70% มีปัญหาไขมันสูงเกินมาตรฐาน สถานการณ์นี้ทำให้แต่ละปีต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคปีละหลายแสนล้านบาท


รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากการสำรวจพบประชาชนอาศัยในเขตเมือง รู้จักชนิดของผักเพียง 8 ชนิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่เลือกรับประทานผัก ผลไม้ น้อยลง และหันไปรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วนแทน ส่งผลให้ไม่มีพื้นที่สำหรับผักพื้นบ้าน ความหลากหลายของอาหารท้องถิ่นลดลง ขณะที่ผักทางการตลาดและอุตสาหกรรมกลับสูงขึ้น และพบว่ามีการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจโดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่าเกษตรกรไทย 60% มีสารปนเปื้อนตกค้างในกระแสเลือดแสดงถึงการใช้สารเคมีจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า ปริมาณการบริโภคผัก ผลไม้ ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด โดยกินเพียง 3 ส่วน จาก 5 ส่วน โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนบริโภคผักเพียง 2 ส่วนเท่านั้น ขณะที่สินค้าทางการเกษตรมีการใช้สารเคมีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และเกิดปัญหาปนเปื้อนในผักผลไม้ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

“ความปลอดภัยของอาหาร และโภชนาการที่ดีจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย และอร่อย โดยเลือกรับประทานอาหารจากท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย และมีราคาไม่แพง ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า “จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร” (from farm to table) ที่ผู้บริโภคจะไม่ถูกทำลายสุขภาพ เกษตรกรรายย่อยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และระบบอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยให้ได้” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

สำหรับเทศกาลกินเปลี่ยนโลก จัดโดย สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความเข้าใจระบบนิเวศอาหารที่หลากหลาย เพื่อสร้างการตระหนัก และรับรู้เรื่องอาหารปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจงาน ได้แก่ นิทรรศการเส้นทางกะปิ นำเสนอกระบวนการผลิตกะปิแบบธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ระยะทางของผัก นำเสนอระยะทางตลอดการเดินทางของผักจากแปลงสู่ปากผู้บริโภค และสวนผักคนเมือง City Farm ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนเมืองหันมาปลูกผักที่สดสะอาดปลอดภัยไว้กินเอง รวมถึงซุ้มฝึกลิ้น ที่จะชวนชิมอาหารเปรียบเทียบรสระหว่างอาหารสดเครื่องปรุงรสน้อยๆ กับอาหารปรุงรส ปรุงแต่งอย่างหนัก เพื่อให้รู้จักและแยกรสต่างๆ ของอาหารได้ โดยระหว่างงานจะมีผู้ผลิตจากหลากหลายระบบนิเวศเข้าร่วม อาทิ เกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ ที่จะยกตลาดผักอินทรีย์มาถึงกรุงเทพฯ และเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ ที่พาข้าวอินทรีย์หลากสายพันธุ์ และน้ำพริกสารพัดรสชาติ มาให้เลือกสรรกันแบบจุใจ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคมนี้ ที่สวนสันติชัยปราการ


บทความที่ได้รับความนิยม