วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บริการทันตกรรมในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงอายุครรภ์

บริการทันตกรรมในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงอายุครรภ์ตามโครงการแม่ฟันดีสู่ ลูกรัก โดยจะมีการออกให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก และการให้การรักษาเบื้องต้นแก่หญิงตั้งครรภ์ โดยทันตบุคคลากรของฝ่ายทันตกรรม ในวันอังคาร ที่ 29 พฤษภาคม 2555 ดังนั้นจึงขอเชิญหญิงตั้งครรภ์ในให้มารับบริการในช่วงเวลา ตั้งแต่ 09.00 - 14.30 น.ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงหวาง  ในวันเวลดังกล่าว
 ขอเชิญผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม ดังรายละเอียดตามนี้
                   ๑.วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕  เรื่องการอบรมฟื้นฟูอสม.เชี่ยวชาญด้านแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ อสม.รพ.สต.ละ ๑๘ คน พร้อมกันที่ศาลเจ้าปู่ เวลา ๐๘.๓๐ น.
                   ๒.วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ น.  เรื่องการอบรมฟื้นฟูอสม.เชี่ยวชาญในภาวะวิกฤต(น้ำท่วม) อสม.หมู่บ้านละ ๑ คน
                   ๓.วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ น.  เรื่องการอบรมฟื้นฟูอสม.การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อสม.รพ.สต.ละ ๒๕ คน
                   ๔.วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐ น.   เรื่องการอบรมฟื้นฟูอสม.เชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน หมู่บ้านละ ๒ คน
                    ในการนี้การอบรมทั้ง ๔ เรื่อง ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเพ็ญ

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อย.เตือนอย่าใช้ "พาราเซตามอล" พร่ำเพรื่อ

อย.เตือน "พาราเซตามอล" ไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกอาการปวด บอกคนไทยอย่าใช้ยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ หากใช้ไม่ถูกนอกจากไม่บรรเทาอาการ ซ้ำร้ายอาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียง แนะปฏิบัติตามฉลากยา หากไม่เข้าใจให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน
นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลการใช้ยาแก้ปวดของคนไทย พบว่า มีการใช้ยาแก้ปวดกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ พาราเซตามอล” ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด
ในความเป็นจริงแล้ว อย.ขอเตือนว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน โดยทั่วไปแบ่งยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดนิ่วในไต ปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปวดจากบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ เช่น หลังการผ่าตัด การคลอดลูก โรคมะเร็ง จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ ยากลุ่มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะ ทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้งยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้
นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า ยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า ระบบเลือด จะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไต โดยทำให้ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
นพ.พงศ์พันธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคใช้ยารักษาอาการปวดอย่างถูกต้อง โดยใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เตือนใช้ผงปรุงรสเสี่ยงป่วยโรคหัวใจ

เตือนใช้ผงปรุงรสเสี่ยงป่วยโรคหัวใจเหตุกินเกลือเกิน-จี้แก้พฤติกรรม

เตือนใช้ผงปรุงรสเสี่ยงป่วยโรคหัวใจเหตุกินเกลือเกิน-จี้แก้พฤติกรรม

ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนมีความนิยมในการใช้ผงปรุงรส หรือก้อนปรุงรสเพิ่มมากขึ้นว่า จากการเก็บข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว พบว่าส่วนผสมส่วนใหญ่ร้อยละ 40ประกอบไปด้วยโซเดียมหรือเกลือ รองลงมาคือ ไขมันปาล์มร้อยละ 18-20และผงชูรสร้อยละ 15-20แต่หากเป็นชนิดที่ไม่มีผงชูรส ก็จะเปลี่ยนเป็นเกลือเพิ่มขึ้น และน้ำตาล ร้อยละ 8-10เพื่อทำให้มีรสชาติกลมกล่อมขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีเนื้อสัตว์อบแห้งเพื่อเลียนแบบของธรรมชาติ โดยทั้งผลิตภัณฑ์ชนิดก้อนและผงมีส่วนประกอบที่ไม่ต่างกันมากนัก

ผศ.ดร.วันทนีย์กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลด้านโภชนาการ ในการเติมส่วนประกอบดังกล่าวลงในอาหาร คือ อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณโซเดียมที่สูงเกินไป โดยพบว่าก้อนปรุงรส 1ก้อน มีปริมาณโซเดียม 1,800 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันอยู่ที่ 1,000-1,500 มิลลิกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งในการบริโภคแต่ละวัน จะได้รับโซเดียมจากแหล่งต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งในผัก ผลไม้ และจากการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ ทำให้เมื่อใส่ผงปรุงรสโอกาสที่จะได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ และหากรับประทานติดต่อกันอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เกิดผลต่อสุขภาพได้ในที่สุด

"ประชาชนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยการใช้ผักทดแทน เช่น แครอต หัวไช้เท้า กระดูก เพราะการเติมผงหรือก้อนปรุงรสมีความเสี่ยงที่จะทำให้ได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ และพบว่าประชาชนมักเพิ่มเครื่องปรุงชนิดอื่นลงไปอีก ทั้งซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล ยิ่งทำให้ได้รับปริมาณเพิ่มขึ้น โดยการได้รับโซเดียมมาก สัมพันธ์กับโรคความดัน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือด หัวใจ หลอดเลือดสมอง หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็จะยิ่งได้รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก" ผศ.ดร.วันทนีย์กล่าว


บทความที่ได้รับความนิยม