วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ไม่พบสัญญาณไข้หวัดนกในไทย




กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยเชื่อมั่นว่ายังควบคุมโรคไข้หวัดนกได้โดยใช้หลักการติดตามควบคุมดูแลตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือไบโอซิเคียวริตี้
นายยุคล  ลิ้มแหลมทอง  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า  การเตรียมการรับมือโรคไข้หวัดนก ให้แก่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์ปีกของไทย ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ใช้หลักการติดตามควบคุมดูแลโรคไข้หวัดนก ตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือไบโอซิเคียวริตี้ (Bio Security) ขั้นสูงสุด ซึ่งเท่าที่เริ่มติดตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคและปัจจัยที่น่าเป็นห่วงว่า จะเกิดโรคไข้หวัดนกในไทยได้  อย่างไรก็ตามเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์สุ่มตรวจสอบเก็บตัวอย่างจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 รวมทั้งให้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อจุดเข้าออกชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทุกจุดอีกครั้ง เพราะเป็นจุดสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในโลกยังคงทรงตัว คือ พื้นที่การระบาดในจีนยังมีเพิ่มขึ้น และไทยยังควบคุมป้องกันโรคได้ จะทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกหลักของโลก โดยมีคู่แข่งการส่งออกของไทยเพียงรายเดียว คือ บราซิล แต่ไทยยังได้เปรียบในฐานะ เป็นรายใหญ่ในตลาดสหภาพยุโรป(อียู) และญี่ปุ่น เนื่องจากคุณภาพสินค้าไทยดีกว่า จะทำให้คำสั่งซื้อเนื้อไก่หลั่งไหลมายังผู้ประกอบการไทย คาดว่าตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่ไทยทั้งเนื้อไก่สด และไก่ปรุงสุก จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากปีที่ผ่านมาที่มียอดส่งออกรวม 600,000 ตัน

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ระวังโรคอาหารเป็นพิษหน้าร้อน




นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้มีผู้ใช้บริการในสถานีขนส่งเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอากาศร้อนทำให้อาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เน่าเสีย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ง่าย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำดื่ม โดยสุ่มเก็บตัวอย่างที่จำหน่ายในสถานีขนส่งต่างๆ ได้แก่ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งเอกมัย และสถานีรถไฟหัวลำโพงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2556 ได้เก็บตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคจำนวน 64 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล (E.coli) จำนวน 27 ตัวอย่างและพบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ เชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) จำนวน 4 ตัวอย่าง เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella spp.) จำนวน 2 ตัวอย่าง แต่ไม่พบเชื้ออหิวาห์ตกโรค
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารพร้อมบริโภคที่วางจำหน่ายตามสถานที่ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ บางรายอาจเกิดอาการช็อกหมดสติและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ การรักษาอาการเบื้องต้นทำได้โดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอส โดยหลังดื่มแล้ว 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ตามขอเตือนผู้บริโภคให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ อยู่เสมอ ใช้ช้อนกลางทุกครั้งและล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ในส่วนผู้ประกอบการควรอุ่นอาหารให้ร้อนอยู่เสมอ หรืออุ่นทุกๆ 2 ชั่วโมง และไม่หยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า

บทความที่ได้รับความนิยม