วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต



    ยาถ่าย


      สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อ้วนจริง เพียงแค่อยากผอมเหมือนดาราและใส่เสื้อผ้าขนาดเล็กได้เท่านั้น ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

              วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงวัยรุ่นไทยที่ไม่ได้อ้วนจริง แต่ใช้ยาลดความอ้วน เพราะคลั่งความผอม ความสวย อยากมีหุ่นเพรียวลมเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นและดารา และนิยมสั่งซื้อยาลดความอ้วนผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าสถานบริการลดความอ้วนตามตลาดมืด หรือหลงเชื่อโฆษณาน้ำผลไม้สารสกัดลดน้ำหนัก 

             ทั้งนี้ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้วัยรุ่นหญิงไทยและหญิงข้ามเพศ มีค่านิยมว่าจะต้องมีรูปร่างที่ผอมมาก เพราะคิดว่าผอม ๆ เช่นนั้นแล้วสวย ใส่เสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กมากได้ ทำให้วัยรุ่นที่อ้วนหรือแค่รู้สึกว่าตัวเองอ้วน หันมาใช้ยาลดน้ำหนัก ใช้ทางลัดต่าง ๆ ทั้งเข้าสถานบริการลดความอ้วน ทานยา อดอาหารอย่างผิดวิธี โดยไม่คิดที่จะออกกำลังกายสลายไขมัน นอกจากนี้ ยังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษภัยจากการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหารดังกล่าว  จนบางรายถึงกับเสียชีวิต 
            เภสัชกรประพนธ์ กล่าวต่อว่า ยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้  ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร  และยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง  เพื่อลดความอยากอาหารกินแล้วไม่หิวง่าย เช่นเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (Dexfenfluramine), ไซบูทรามีน (Sibutramine)  โดยตัวยาเหล่านี้ ทาง อย. ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2553 ตามลำดับ 

             พร้อมกันนี้ เภสัชกรประพนธ์  เผยต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก (stroke) ได้

             ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโดดเด็ดขาดและขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบใส่สารลดน้ำหนักที่เป็นอันตราย แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์อาจจะบอกว่าเป็นน้ำผลไม้ หรือเป็นสารสกัดก็ตาม ถือว่าเป็นการแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือแสดงสรรพคุณที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นความผิด

บทความที่ได้รับความนิยม