วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ร้อนนี้ระวัง!!! โรคผิวหนัง




โรคที่เกิดกับผิวหนัง มีสาเหตุต่างๆมากมายหลายประการ อาจเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ มีการติดเชื้อก็ได้ โรคผิวหนังบางชนิดมีรอยโรคที่ผิวหนังคล้ายคลึงกันทั้งๆที่อาจมีสาเหตุที่แต่กต่างกัน และในทางตรงกันข้ามรอยโรคที่ไม่เหมือนกัน อาจจะมีสาเหตุของโรคเหมือนกันก็ได้ 

นอกจากนี้โรคผิวหนังที่พบในสัตว์อาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือมีหลายๆสาเหตุรวมกัน โรคผิวหนังอาจจำแนกได้ตามสาเหตุของโรคได้ดังต่อไปนี้ 

1) โรคผิวหนังที่มีสาเหตุจากปรสิต 
2) โรคผิวหนังที่เกิดจากแบคทีเรีย 
3) โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา 
4) โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้แบบต่างๆ 
5) โรคผิวหนังเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันผันแปร 
6) โรคผิวหนังเนื่องจากระบบฮอร์โมน 
7) โรคผิวหนังเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร 
8) โรคผิวหนังเนื่องจากพันธุกรรม 
9) โรคเนื้องอกที่ผิวหนัง 
โรคผิวหนังเกิดได้จากมากมายหลายสาเหตุ ที่พบบ่อย คือ 

- ต่อมต่างๆของผิวหนังอุดตัน และ/หรือ ติดเชื้อ เช่น เป็นสิว 
- การติดเชื้อ ซึ่งติดเชื้อได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา เช่น ฝีต่างๆ กลาก เกลื้อน โรคเริม โรคงูสวัด 
- จากโรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง) เช่น โรคพุ่มพวง (โรคลูปัส/Lupus
- จากโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นคันจากการสัมผัสขนสัตว์ หรือ เกสรดอกไม้ 
- จากการแพ้สารต่างๆ เช่น ผื่นจากแพ้ยา 
- จากการขาดวิตามิน บางชนิด เช่น การขาดวิตามิน บี3 
- จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง ผิวหนังจึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น ในโรคเอดส์ 
- จากโรคของเนื้อเยื่ออ่อนของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และ โรคแผลเป็นนูน 
- จากผลของฮอร์โมน เช่น การขึ้นฝ้าในคนท้อง 
- จากสูงอายุ (เซลล์ผิวหนังเสื่อมตามอายุ) เช่น กระผู้สูงอายุ 
- ไฝ ต่างๆ 
- โรคทางพันธุกรรม เช่น ปานผิวหนังชนิดต่างๆ 
- จากการถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง นอกจากเป็นปัจจัยให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมก่อนวัยแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังด้วย 


วิธีการป้องกันโรคผิวหนัง 

- รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ โดยการใช้สบู่ที่อ่อนโยน 

- ปกป้องผิวหนังจากแสงแดดเมื่อต้องโดนแดดจัด หรือ ทำงานกลางแจ้ง เช่น ใส่เสื้อแขนยาว 
  ใส่หมวกปีกกว้าง และ/หรือใช้ยากันแดด 

- กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้งห้าหมู่ทุกวัน (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) เพิ่มผักและผลไม้ เพื่อชะลอผิวเสื่อมก่อนวัย 

- เลือกเครื่องสำอาง และเครื่องใช้ต่างๆ ชนิดที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น ครีมบำรุงผิว น้ำยาโกนหนวด รวมทั้งยาสีฟัน ว 
  และทิชชูทำความสะอาด 

- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด ผิวจะแห้งมาก ผิวเสื่อมได้ง่าย 

- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ผิวหนัง และยังเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบ 
  ผิวหนังจึงเสื่อมง่ายจากขาดเลือด 

- เรียนรู้ชีวิต ควบคุมความเครียด เพราะเป็นสาเหตุของ สิว และผิวหน้าย่นได้เร็ว 

- หลีกเลี่ยงสารที่ก่ออาการแพ้ต่อผิวหนัง 

- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนัง 

- สังเกตผิวหนังตนเองเสมอ เช่น ขณะอาบน้ำ และแต่งตัว เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ควรพบแพทย์ 

- การพบแพทย์มะเร็ง เมื่อผิวหนังผิดปกติไปจากเดิม และไม่ดีขึ้น ภายใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เสมอ

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เด็กต่ำ 5 ขวบเสี่ยง!! โรคมือ เท้า ปาก



เป็นโรคที่ถือว่าพบได้บ่อยมาก สำหรับโรค "มือ เท้า ปาก" หรือ Hand Foot Mouth Disease โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนจะพบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus โดยติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อาทิ น้ำมูก น้ำลาย เสมหะอุจจาระ เป็นโรคสำคัญที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม และไทย ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรครุนแรง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายที่ติดเชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก เช่น ไวรัสเอนเตอโร 71 ไวรัสคอกซากี เอ ไวรัสคอกซากี บี และไวรัสเอสโฆ่ เป็นต้น

สถานการณ์ในอดีตโรค มือ เท้า ปาก
 

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยพบจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 769 - 16,846 ราย ดังภาพที่ 1 



ภาพที่ 1  อัตราป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ต่อแสนประชากร ปี พ.ศ. 2546 – 2554 ในประเทศไทย 





สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจุบันโรคมือ เท้า ปาก 

ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 - 15 ก.ย. 2556 พบผู้ป่วย 32,321 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 50.88 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 2 ราย 

ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ 85.95 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 51.70 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 48.71 ต่อแสนประชากร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33.50 ต่อแสนประชากรตามลำดับ 

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ส่อระบาด.........ไข้คอตีบ



โรคคอตีบ (Diphtheria) หรือไข้คอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบและมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ อาจทำให้เสียชีวิตลงได้ จากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย ระยะฟักตัวจากการติดเชื้อจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ส่วนเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ ในบางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ 

ตำแหน่งที่จะพบการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ 

1. ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น 

2. ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้ 

3. ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู 

โรคคอตีบพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักไม่พบในเด็กอ่อนที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเด็กช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ ซึ่งจะหมดไปเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน โดยทั่วไปในประเทศที่ยังไม่พัฒนามักพบโรคเกิดในเด็กเล็ก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อเกิดโรคมักพบในวัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งต้องฉีดทุกๆ 10 ปี ปัจจุบันโรคไข้คอตีบพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ 

การดูแลตนเอง หรือ การดูแลเด็ก คือ การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าว เนื่องจากโรคคอตีบเป็นโรคติดต่อได้ง่าย รวดเร็ว และรุนแรง ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วย ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อขอรับคำแนะนำ อาจต้องตรวจเชื้อจากโพรงหลังจมูก และอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ หรือ ฉีดกระตุ้น (ในคนที่เคยได้วัคซีนมาก่อนแล้ว) รวมทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อตรวจพบเชื้อทั้งๆที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับคำ แนะนำของแพทย์ 

การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวมโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน ฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เป็นระยะๆจาก อายุ 2 เดือน จนถึงอายุ 6 ปี ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุข

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

ภัยเงียบ ! ! ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)


ไวรัสตับอักเสบซี ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในตับ สามารถทำให้เกิดการตับอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังตลอดจนตับแข็งและมะเร็งตับ ความรุนแรงของไวรัสชนิดนี้คือ เป็นตับอักเสบเรื้อรังมากกว่าชนิดอื่น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ทำได้ก็เพียงการให้ยาลดไวรัสและป้องกันการเกิดมะเร็งตับเท่านั้น 

ปัจจัยเสี่ยงและการติดต่อ 
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันแต่มีผู้ป่วยบางท่านได้รับเชื้อโดยไม่ทราบแหล่งที่มาปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 

• ผู้ที่เคยได้รับเลือด และ สารเลือดก่อนปี ค.ศ. 1992 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 

• เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับอุบัติเหตุถูกเข็มตำ 

• ผู้ป่วยติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 

• ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี พบได้ร้อยละ 5 

• ผู้ที่สำส่อนทางเพศ หรือ รักร่วมเพศ 

• ไดรับเชื้อจากการสักตามตัว 

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี 
อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจาก ไวรัสตับอักเสบซี 

1. ไม่มีอาการ 

2. อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดและลงท้ายด้วยตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลืองพบได้เพียง 10-15% เท่านั้น ที่เหลือไม่พบ จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย 

อาการตับอักเสบเรื้อรังจาก ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง มึนงง สมองไม่สั่งงานและเมื่อตับอักเสบไปเรื่อยๆ จึงพบอาการตับแข็ง นอกจากนั้นอาจพบอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ เช่น โรคไต โรคผิวหนังผื่นตามผิวหนัง เป็นต้น

การรักษาโรค ไวรัสตับอักเสบซี 
ตับอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันมักไม่ค่อยมีอาการ จึงไม่มีการรักษาใดๆ เป็นเพียงการดูแลรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ถ้าอ่อนเพลียก็ให้พักผ่อนเยอะๆ ไม่นอนดึก หลีกเลี่ยงอาหารมัก เป็นต้น 

ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะกลายเป็นโรคเรื้อรังและมีการดำเนินของโรคไปเรื่อยๆ จนถึงสภาพตับเสื่อมและตับวายในที่สุด ปัจจุบันยาที่ใช้เป็นมาตรฐาน ในการรักษาคือ การให้ยา 2 ตัวร่วมกัน คือ ยาฉีดในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอนร่วมกับยาไรบาไวริน ซึ่งเป็นยารับประทาน ยาทั้งสองจะให้ผลดีคือกำจัดไวรัสให้หมดไปและไปเป็นซ้ำอีกหลังหยุดยาซึ่งให้ผลเฉลี่ยมากกว่า 50% 

การป้องกันไวรัสตับอักเสบซี 
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อตับ ตั้งแต่การติดเชื้อเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ แม้ว่าการคัดกรองเลือดในปัจจุบันจะมีความแม่นยำมากขึ้น ร่วมกับการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยายาเสพติด ทำให้การติดเชื้อจากแหล่งเหล่านี้ลดลง แต่มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสัก การเจาะ ร่วมกัน ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน และเนื่องจากวัคซีนสำหรับการป้องกันยังไม่ค้นพบ ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงถือว่าดีที่สุด 

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยุงก้นปล่องพาหะมาลาเรีย



สาเหตุการเกิดโรคไข้มาลาเรีย 

เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว หรือโปรโตซัว (Protozoa) เช่นเดียวกับบิดอะมีบา มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค คือต้องถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดจึงจะเป็นโรค หรือไม่ก็อาจเกิดจากการได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้ออยู่ 


อาการโรคไข้มาลาเรีย 

อาการจะเกิดหลังจากได้รับเชื้อโดยถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10-14 วัน (แต่อาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้) ไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม จะเกิดทุก 2 วัน ส่วนไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ จะเกิดทุก 3 วัน ใน 2-3 วันแรก อาจมีอาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวคล้าย ไข้หวัดใหญ่ ต่อมาจึงจะมีอาการไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย 


วิธีการป้องกัน 

(1) ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง 

(2) ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง 

(3) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง 

(4) แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา 

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

กินหมูดิบ….ถึงตาย ไม่ใช่แค่หูดับ



โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากหมู/สุกรสู่คน โรคไข้หูดับเป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วโลก โดยมักพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2548 พบมีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในชั้นต้นของการระบาดครั้งนี้ มีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน 

โรคไข้หูดับ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุแต่ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดจะพบโรคเกิดในผู้ ใหญ่ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง อาจเพราะเพศชายทำงานสัมผัสกับหมูมากกว่าเพศหญิง 

ในประเทศไทยมีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คนในปี พ.ศ. 2530 และยังมีรายงานพบโรคไข้หูดับในอายุน้อยที่สุด คือ ในเด็กอายุ 1 เดือน 1 ราย และพบว่า ประมาณ 88% ของผู้ป่วย ดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวกับคนดื่มสุรามักกินหมูสุกๆดิบๆซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการติดเชื้อโรคนี้ 


การติดเชื้อสู่คน 


การติดเชื้อไข้หูดับไม่ได้เกิดจากระบบการหายใจ แต่เป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย (บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลก็ได้) หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง หมายรวมถึงผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ 

โรคนี้ระบาดอยู่ในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงหมูรวมทั้งประเทศไทย มักพบในชุมชนที่มีการเลี้ยงหมู ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ และน่าน 

มีรายงานความเสี่ยงการติดโรคนี้มากขึ้น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยตัดม้ามออก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ 

จากรายงานที่มีการรวบรวมทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น อายุที่พบจากการศึกษาในประเทศไทย เฉพาะในปี พ.ศ. 2554 พบว่าเกิดโรคอยู่ระหว่างอายุ 29-82 ปี 


อาการของผู้ที่ติดเชื้อ 


การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจ มีโอกาสน้อยและไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก 


อาการทั่วไป 


- มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน ปวดศีรษะ 


อาการเฉพาะ 


1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก หูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ 

2. ติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

3. กลุ่มอาการ Toxic Shock Syndrome 

4. กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ 


วิธีการรักษา 


การรักษาไข้หูดับ คือการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาเซฟไตร อะโซน (Ceftriaxone) เข้าหลอดเลือดดำ ในรายที่แพ้ยาดังกล่าวอาจใช้ยา แวนโคมัยซิน (Van comycin) ทั้งนี้เชื้อมักดื้อต่อยา อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาซัลฟา(Sulfa-group) 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่รอดชีวิตมา ยังอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น ความผิดปกติในการทรงตัว เนื่องจากเชื้อได้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรือหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นกัน 


วิธีการป้องกัน 


การป้องกันไข้หูดับทำได้โดย 

1. สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม ระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมู/สุกรทุกขั้นตอน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้ 

2. ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสสุกร และเนื้อสุกร 

3. เมื่อเกิดแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกร 

4. กำจัดเชื้อจากฟาร์ม โดยการเลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหมู 

5. ไม่รับระทานเนื้อหมูที่ไม่สุกดี เช่น จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุกพอ หรือ ลาบสุกๆดิบๆ เป็นต้น 

6. ไม่กินหมูที่ป่วย หรือหมูตายจากโรค 

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความดันโลหิตสูง...เพชฌฆาตเงียบ!!









ในอดีตอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ซึ่งมีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายกินอยู่อย่างไทย ทำให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำ แต่ในสภาวะปัจจุบันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนไทยเกิดความเครียดส่งผลให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีการระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณไว้ว่าจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั่วโลก จาก 194 ประเทศ มีจำนวนถึง 970 ล้านคน โดย 330 ล้านคนอยู่ในประเทศพัฒนา และ 640 ล้านคนอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน 

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย 



ความดันโลหิต (blood pressure) หมายถึง ความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อปั๊มเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความดันภายในหลอดเลือดนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่หัวใจกำลังคลายตัวก็ตาม เพราะจะมีการไหลเวียนของเลือดอยู่ตลอด ดังนั้นจึงเกิดความดันในหลอดเลือดตลอดเวลา โรคความดันโลหิตสูง หรือ ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) เป็นโรคพบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ในบางประเทศพบโรคนี้ได้สูงถึง 50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการรักษา และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง 

เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ จากการที่เป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรง ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ และไม่มีอาการ จึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า “เพชฌฆาตเงียบ (Silent killer)” ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของอาการจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นอาการจากผลข้างเคียง เช่น จากโรคหัวใจ และจากโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ เป็นอาการจากโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น อาการจากโรคเบาหวาน หรือ จากโรคอ้วน หรือเป็นอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง 

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดย 

- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน และจำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารเค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ชนิดไม่หวานให้มากๆ 

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามสุขภาพ 

- พักผ่อนให้เพียงพอ 

- รักษาสุขภาพจิต 

- ตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจสุขภาพ) ซึ่งรวมถึงตรวจวัดความดันโลหิต เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี หลังจากนั้นตรวจสุขภาพบ่อยตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต



    ยาถ่าย


      สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อ้วนจริง เพียงแค่อยากผอมเหมือนดาราและใส่เสื้อผ้าขนาดเล็กได้เท่านั้น ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

              วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงวัยรุ่นไทยที่ไม่ได้อ้วนจริง แต่ใช้ยาลดความอ้วน เพราะคลั่งความผอม ความสวย อยากมีหุ่นเพรียวลมเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นและดารา และนิยมสั่งซื้อยาลดความอ้วนผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าสถานบริการลดความอ้วนตามตลาดมืด หรือหลงเชื่อโฆษณาน้ำผลไม้สารสกัดลดน้ำหนัก 

             ทั้งนี้ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้วัยรุ่นหญิงไทยและหญิงข้ามเพศ มีค่านิยมว่าจะต้องมีรูปร่างที่ผอมมาก เพราะคิดว่าผอม ๆ เช่นนั้นแล้วสวย ใส่เสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กมากได้ ทำให้วัยรุ่นที่อ้วนหรือแค่รู้สึกว่าตัวเองอ้วน หันมาใช้ยาลดน้ำหนัก ใช้ทางลัดต่าง ๆ ทั้งเข้าสถานบริการลดความอ้วน ทานยา อดอาหารอย่างผิดวิธี โดยไม่คิดที่จะออกกำลังกายสลายไขมัน นอกจากนี้ ยังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษภัยจากการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหารดังกล่าว  จนบางรายถึงกับเสียชีวิต 
            เภสัชกรประพนธ์ กล่าวต่อว่า ยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้  ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร  และยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง  เพื่อลดความอยากอาหารกินแล้วไม่หิวง่าย เช่นเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (Dexfenfluramine), ไซบูทรามีน (Sibutramine)  โดยตัวยาเหล่านี้ ทาง อย. ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2553 ตามลำดับ 

             พร้อมกันนี้ เภสัชกรประพนธ์  เผยต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก (stroke) ได้

             ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโดดเด็ดขาดและขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบใส่สารลดน้ำหนักที่เป็นอันตราย แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์อาจจะบอกว่าเป็นน้ำผลไม้ หรือเป็นสารสกัดก็ตาม ถือว่าเป็นการแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือแสดงสรรพคุณที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นความผิด

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

สถิติคนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น



กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน แนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย 
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และปี 2555 เพิ่มสูงถึง 6.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือปีละ 3,700-3,900 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าร้อยละ 2.3-2.7 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว
แต่มีอัตราการเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วย เพราะประชาชนมีอคติไม่อยากพบจิตแพทย์ กลัวคนรอบข้างว่าเป็นบ้า ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอาจส่งผลกระทบถึงครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้
โดยกรมสุขภาพจิต ได้ตั้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในระดับอำเภอ ปัจจุบันมีทั้งหมด 853 ทีม เป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ทั้งที่เกิดจากเหตุชุมนุม และภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ทีมดังกล่าวจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาบริการการค้นหาและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นร้อยละ 31
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวต่อว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักจะถูกเยาะเย้ย ซ้ำเติม ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้โดยครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รับฟังปัญหาอย่างไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติผู้ที่จะฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อ หรือทำร้ายตัวเอง แต่ก็มีบางรายที่ก่อนฆ่าตัวตาย ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย
ขอแนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกหดหู่ท้อแท้ เบื่อไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ใจลอย ไม่มีสมาธิ เศร้า ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย พยายามออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงและสมองปลอดโปร่ง เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขได้
อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ขอให้พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะปัญหาทุกเรื่องมีวิธีแก้ไขหาทางออกได้ หรือไปพบแพทย์ พยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาทางสายด่วน 1323 จะมีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง


ที่มา : หนังสือมติชนออนไลน์

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

มะเร็งไต ร้ายกว่ามะเร็งทุกชนิด



มะเร็งปอด มะเร็งตับ และอีกหลากหลายมะเร็ง ซึ่งเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่มะเร็งอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่เป็นแล้วลุกลาม มักตรวจไม่พบ กว่าจะตรวจพบ ก็ถึงขั้นไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้แล้ว!
นพ.ดนัยพันธุ์ อัครสกุล หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตรวจไม่ค่อยพบมะเร็งไตในอดีต เพราะจุดที่เกิดมะเร็งชนิดนี้อยู่ด้านใน คือหลังช่องท้อง แพทย์มักจะคลำไม่พบ และกว่าจะตรวจเจอ มะเร็งก็มักจะมีขนาดใหญ่ไปแล้ว เพราะฉะนั้น สมัยโบราณ ถ้าตรวจเจอเมื่อไหร่ก็หมายถึงว่าเข้าสู่ช่วงอาการที่แย่เต็มทีแล้ว
“แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าจะเจอเยอะขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น เรามีการสกรีนนิ่งหรืออัลตราซาวน์ และสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้มะเร็งไตแพร่หลายมากขึ้นก็เนื่องจากมลภาวะของโลกปัจจุบัน พวกสารเคมี บุหรี่ หรือสารจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำให้การเกิดมะเร็งไตสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”
มะเร็งไตแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเกิดตรงบริเวณไตที่มีลักษณะเหมือนกับเซี่ยงจี้ ส่วนอีกจุดจะเกิดตรงบริเวณกรวยไต แต่มะเร็งกรวยไต มักจะถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในหมวดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพราะเป็นเนื้อเยื่อเดียวกัน ในแง่ของอัตราส่วน ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไตมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 ต่อ 1 ขณะที่พันธุกรรมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
“เพราะสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งไตนั้น มันจะไปกระทบที่ตัวยีนก่อน ทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วจากนั้นก็มีสารเคมีอีกตัวหนึ่งซึ่งไปเสริมให้เซลล์มะเร็งเกิดการขยายตัวเป็นก้อนใหม่ ที่สำคัญ พบว่ามะเร็งไตเจอในคนที่มีอายุน้อยลง แตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีอายุมากหน่อย อายุ 40 กว่าๆ ขึ้นไป ก็อาจเป็นมะเร็งไตได้แล้ว” นพ.ดนัยพันธุ์ กล่าว
สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่า มะเร็งไตไม่เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะเป็นมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาทุกอย่าง ไม่ตอบสนองต่อการฉายแสง อีกทั้งเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งไตก็ไม่มี นพ.ดนัยพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า อาจจะมียาบางตัวซึ่งใช้ได้กับมะเร็งไต แต่ตัวยาก็มีราคาที่สูงมาก
ดังนั้น ก่อนจะถูกมะเร็งชนิดนี้คุกคาม นพ.ดนัยพันธุ์ ชี้ว่า การดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรค จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญก็คือ ต้องหยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ถือเป็นปัจจัยหลักของมะเร็งทุกอย่าง ส่วนเรื่องของอาหาร ก็พยายามรับประทานอาหารที่ปลอดจากสารเคมี
    

ที่มา : เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

เด็กไทย เตี้ยและผอม เพราะขาดแคลเซียม




กรมอนามัย เผย เด็กไทยมีปัญหาการเจริญเติบโตของร่างกาย เพราะบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมน้อย โดยเฉพาะการดื่มนม
น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ6-12 ปี ในปี 2555 พบว่านักเรียนมีภาวะอ้วนจำนวน 187,000 คน เตี้ยจำนวน 254,620 คน และผอมจำนวน99,112 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเด็กนักเรียนที่เตี้ยและผอม จะมีสติปัญญาด้อยเรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังพบว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างแคลเซียมยังน้อยอีกด้วย โดยเฉพาะการดื่มนม ซึ่งคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี มีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร
น.พ.พรเทพ กล่าวอีกว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกเนื่องจากร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ที่กระดูกและฟัน แต่การที่ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความสูง นอกจากเกิดจากกรรมพันธุ์แล้ว การเจริญเติบโตด้านความยาวของกระดูก อาหารและการออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งสารอาหารที่สร้างความแข็งแรงของกระดูกมีหลายชนิด เช่น โปรตีนฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณแคลเซียม ที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันตามช่วงอายุ คือ เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม อายุ 4-8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัม อายุ 9-18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม


ที่มา :  สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.

บทความที่ได้รับความนิยม