วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

ร้อนจัดระวังพิษสุนัขบ้าคืนชีพ

ร้อนจัดระวังพิษสุนัขบ้าคืนชีพ
อากาศร้อนจัดเสี่ยงต่อสุขภาพหลายกรณี ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ลมแดด และพิษสุนัขบ้า
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูร้อน ที่อากาศค่อนข้างร้อนจัดกว่าทุกปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนหลายกรณี อันดับแรก คือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลให้อาหารเสียง่าย จะเกิดท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รวมทั้งความสะอาดของน้ำดื่ม เรื่องที่ 2 คือ กรณีการออกไปอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเป็นลมแดด สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิภายนอกที่สูงได้อาจมีอาการรุนแรงหรือ HEAT STROKE อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงต้องหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานานหรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งต้องสังเกตอาการของตนเอง เช่นหน้ามืดเหมือนจะเป็นลม ตัวเย็นมือเท้าเย็น นอกจากนี้ในผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ต้องระมัดระวัง รวมทั้งยังพบว่าจะมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคผิวหนังได้มากด้วย สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า จนสามารถปลอดจากผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กทม.ก็จะคงเฝ้าระวังต่อไป โดยจะมีการออกหน่วยเคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวอย่างต่อเนื่อง.

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

พบคนไทยเสี่ยงเบาหวานขึ้นตาพุ่ง


สธ.พบผู้ป่วยเบาหวานเจอโรคแทรกเพิ่มมากกว่า 2 แสนรายเสี่ยงตาบอดกว่า 6 หมื่นรายเปิดคลีนิกใน รพ.เร่งรักษา

นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการตรวจคัดกรองทั่วประเทศปีที่ผ่านมา พบประชาชนป่วยเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ โดยไม่รู้ตัวมาก่อน 1 ล้าน 2 แสนกว่าราย ในจำนวนนี้ พบว่า มีโรคแทรกซ้อนด้วยจำนวน 222,185 ราย โดยเป็นโรคแทรกซ้อนทางตามากที่สุด ที่ชาวบ้านเรียกว่าเบาหวานขึ้นตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นรวมจำนวน 62,123 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วย

"กล่าวได้ว่าในผู้ป่วยโรคเบาหวานทุก 5 คน จะพบมีปัญหาการมองเห็นได้ 1 คน โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีโอกาสเสี่ยงตาบอดสูงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 25 เท่าตัว หากไม่มีระบบการดูแลป้องกันโรคแทรกซ้อนทางสายตาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแต่ละจังหวัด และจะทำให้คนไทยมีปัญหาตาบอดมากขึ้น และจะเป็นภาระแก่ครอบครัวและประเทศในระยะยาว" นายแพทย์ โสภณ กล่าว

สำหรับการควบคุมแก้ไขปัญหาโรคแทรกซ้อนทางสายตา ในปีนี้กระทรวงได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เริ่มตั้งแต่โครงการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยรายใหม่ ในประชาชนอายุ 15ปีขึ้นไปทั่วประเทศที่มีประมาณ 54 ล้านคนทุกพื้นที่ เพื่อดูแลรักษาอย่างถูกวิธี จัดคลินิกให้บริการตรวจรักษา และติดตามผลในโรงพยาบาลทุกระดับจำนวนกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ มั่นใจว่าจะลดปัญหาตาบอดจากเบาหวานขึ้นตาได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ50

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

“หมอเดว” ห่วงเด็ก 6 ขวบดื่มเหล้าส่งผลสมองส่วนคิด

“หมอเดว” ชี้เด็ก 6 ขวบดื่มเหล้าเสี่ยงพัฒนาการสมองส่วนคิดบกพร่อง แนะพ่อแม่ไม่ควรลงโทษเด็กด้วยการตี แต่ควรหาโอกาสพูดคุยกับลูกด้วยความรัก ด้านผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุราวอนเจ้าหน้าที่รัฐเข้มบังคับใช้กฎหมาย หลังเหตุเกิดภายในวัดสถานที่ห้ามดื่ม

ห่วงเด็ก 6 ขวบดื่มเหล้าส่งผลสมองส่วนคิด

จากกรณีเด็กอายุ 6 ขวบแอบดื่มเหล้าในวัดจนหมดสติ อยู่ในภาวะโคม่า จนแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งเข้าห้องไอ.ซี.ยู.ซึ่งหลังจากนอน รพ.ได้ 2 วัน เด็กอาการดีขึ้น และแพทย์ให้กลับบ้านแล้วนั้น นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หรือเด็กพลัส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า สมองของเด็กมีการ Big Cleaning หรือการจัดการระบบสมองในช่วงจัดรอยเปลี่ยนต่อระหว่างช่วงอายุ คือหากเด็กอยู่กับพฤติกรรมเสี่ยงก็จะต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ และยิ่งการดื่มสุราเข้าสู่ร่างกาย ก็จะส่งผลต่อการหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสารนี้จะมีผลต่อการกดและทำลายสมองส่วนคิด ทำให้เด็กมีปมด้อยเรื่องพัฒนาการของสมอง ส่งผลให้เด็กคิดวิเคราะห์ไม่ได้ รวมทั้งยังส่งผลต่ออวัยวะสำคัญในร่างกาย ทั้งตับ ไตจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่

ที่สำคัญตับเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกลูโคสไปเลี้ยงสมอง หากมีผลกระทบต่อตับกลไกเหล่านี้ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ และยิ่งเกิดขึ้นในเด็กจึงเกิดอาการช็อคหมดสติได้ดั่งที่เป็นข่าว หากแพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทันอาจมีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ผู้ควบคุมนโยบายทางกฎหมาย หรือชุมชนและผู้ปกครองต้องเอาใจใส่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ปกครองสิ่งแรกที่ควรทำคือหลังจากที่แก้ปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือเด็กให้ปลอดภัยแล้ว คือการปกป้องเด็กให้ความรัก ความอบอุ่น ไม่ควรลงโทษเด็กด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเชื่อว่าเด็กอายุระดับประมาณนี้เป็นช่วงวัยที่เกิดการเลียนแบบ จึงทำให้เด็กอาจทำตามรุ่นพี่หรือสภาพสังคมที่เขาเห็นได้ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องนั่งคุยกับลูกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดี และอาจมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการชุมชน ผนึกกำลังเป็นสหกรณ์พ่อแม่หรือชุมนุมพ่อแม่ เพื่อร่วมแก้ปัญหาห้ามดื่มห้ามขายเหล้าในพื้นที่ สร้างจิตสำนึกของปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ได้

บทความที่ได้รับความนิยม