วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

สถิติคนไทยฆ่าตัวตายสูงขึ้น



กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูลปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน แนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย 
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และปี 2555 เพิ่มสูงถึง 6.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือปีละ 3,700-3,900 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าร้อยละ 2.3-2.7 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว
แต่มีอัตราการเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วย เพราะประชาชนมีอคติไม่อยากพบจิตแพทย์ กลัวคนรอบข้างว่าเป็นบ้า ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอาจส่งผลกระทบถึงครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้
โดยกรมสุขภาพจิต ได้ตั้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในระดับอำเภอ ปัจจุบันมีทั้งหมด 853 ทีม เป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ทั้งที่เกิดจากเหตุชุมนุม และภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ทีมดังกล่าวจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาบริการการค้นหาและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นร้อยละ 31
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวต่อว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักจะถูกเยาะเย้ย ซ้ำเติม ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้โดยครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รับฟังปัญหาอย่างไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติผู้ที่จะฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อ หรือทำร้ายตัวเอง แต่ก็มีบางรายที่ก่อนฆ่าตัวตาย ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย
ขอแนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกหดหู่ท้อแท้ เบื่อไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ใจลอย ไม่มีสมาธิ เศร้า ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย พยายามออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงและสมองปลอดโปร่ง เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขได้
อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ขอให้พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะปัญหาทุกเรื่องมีวิธีแก้ไขหาทางออกได้ หรือไปพบแพทย์ พยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร.ปรึกษาทางสายด่วน 1323 จะมีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง


ที่มา : หนังสือมติชนออนไลน์

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

มะเร็งไต ร้ายกว่ามะเร็งทุกชนิด



มะเร็งปอด มะเร็งตับ และอีกหลากหลายมะเร็ง ซึ่งเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่มะเร็งอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่เป็นแล้วลุกลาม มักตรวจไม่พบ กว่าจะตรวจพบ ก็ถึงขั้นไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้แล้ว!
นพ.ดนัยพันธุ์ อัครสกุล หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ตรวจไม่ค่อยพบมะเร็งไตในอดีต เพราะจุดที่เกิดมะเร็งชนิดนี้อยู่ด้านใน คือหลังช่องท้อง แพทย์มักจะคลำไม่พบ และกว่าจะตรวจเจอ มะเร็งก็มักจะมีขนาดใหญ่ไปแล้ว เพราะฉะนั้น สมัยโบราณ ถ้าตรวจเจอเมื่อไหร่ก็หมายถึงว่าเข้าสู่ช่วงอาการที่แย่เต็มทีแล้ว
“แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าจะเจอเยอะขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น เรามีการสกรีนนิ่งหรืออัลตราซาวน์ และสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้มะเร็งไตแพร่หลายมากขึ้นก็เนื่องจากมลภาวะของโลกปัจจุบัน พวกสารเคมี บุหรี่ หรือสารจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำให้การเกิดมะเร็งไตสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย”
มะเร็งไตแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเกิดตรงบริเวณไตที่มีลักษณะเหมือนกับเซี่ยงจี้ ส่วนอีกจุดจะเกิดตรงบริเวณกรวยไต แต่มะเร็งกรวยไต มักจะถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในหมวดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพราะเป็นเนื้อเยื่อเดียวกัน ในแง่ของอัตราส่วน ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไตมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 2-3 ต่อ 1 ขณะที่พันธุกรรมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
“เพราะสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งไตนั้น มันจะไปกระทบที่ตัวยีนก่อน ทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วจากนั้นก็มีสารเคมีอีกตัวหนึ่งซึ่งไปเสริมให้เซลล์มะเร็งเกิดการขยายตัวเป็นก้อนใหม่ ที่สำคัญ พบว่ามะเร็งไตเจอในคนที่มีอายุน้อยลง แตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งมักจะพบในผู้ที่มีอายุมากหน่อย อายุ 40 กว่าๆ ขึ้นไป ก็อาจเป็นมะเร็งไตได้แล้ว” นพ.ดนัยพันธุ์ กล่าว
สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่า มะเร็งไตไม่เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เพราะเป็นมะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาทุกอย่าง ไม่ตอบสนองต่อการฉายแสง อีกทั้งเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งไตก็ไม่มี นพ.ดนัยพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า อาจจะมียาบางตัวซึ่งใช้ได้กับมะเร็งไต แต่ตัวยาก็มีราคาที่สูงมาก
ดังนั้น ก่อนจะถูกมะเร็งชนิดนี้คุกคาม นพ.ดนัยพันธุ์ ชี้ว่า การดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดโรค จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญก็คือ ต้องหยุดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ถือเป็นปัจจัยหลักของมะเร็งทุกอย่าง ส่วนเรื่องของอาหาร ก็พยายามรับประทานอาหารที่ปลอดจากสารเคมี
    

ที่มา : เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

เด็กไทย เตี้ยและผอม เพราะขาดแคลเซียม




กรมอนามัย เผย เด็กไทยมีปัญหาการเจริญเติบโตของร่างกาย เพราะบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมน้อย โดยเฉพาะการดื่มนม
น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่างโดยเฉพาะด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ6-12 ปี ในปี 2555 พบว่านักเรียนมีภาวะอ้วนจำนวน 187,000 คน เตี้ยจำนวน 254,620 คน และผอมจำนวน99,112 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะเด็กนักเรียนที่เตี้ยและผอม จะมีสติปัญญาด้อยเรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังพบว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างแคลเซียมยังน้อยอีกด้วย โดยเฉพาะการดื่มนม ซึ่งคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปี มีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย โดยผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร
น.พ.พรเทพ กล่าวอีกว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกเนื่องจากร้อยละ 99 ของแคลเซียมอยู่ที่กระดูกและฟัน แต่การที่ร่างกายจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องความสูง นอกจากเกิดจากกรรมพันธุ์แล้ว การเจริญเติบโตด้านความยาวของกระดูก อาหารและการออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งสารอาหารที่สร้างความแข็งแรงของกระดูกมีหลายชนิด เช่น โปรตีนฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ฟลูออไรด์ ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณแคลเซียม ที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวันตามช่วงอายุ คือ เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 500 มิลลิกรัม อายุ 4-8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 800 มิลลิกรัม อายุ 9-18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม


ที่มา :  สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.

บทความที่ได้รับความนิยม