วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โรคหลอดเลือดสมองแตก

โรคหลอดเลือดสมองแตก
Haemorrhagic Stroke


โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการตีบ ตัน หรือ แตก กรณีภาวะเลือดออกในสมองคือ การที่หลอดเลือดแตกและเกิดการคั่งของเลือดรอบ ๆ เซลล์สมองกดดันเซลล์สมองจนเกิดความเสียหาย ส่งผลต่อการควบคุมการทำงานของร่างกาย เช่น  การเคลื่อนไหว การพูด การมองเห็น ตลอดจนภาวะทางด้านอารมณ์  ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ อาการมีแนวโน้มที่รุนแรงมากกว่าโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการตีบ หรือตันของหลอดเลือด

ประเภทของภาวะเลือดออกในสมอง  มีสองประเภทหลัก  คือ เลือดออกในสมอง และเลือดออกบนพื้นผิวรอบ ๆ เนื้อสมอง

อาการของภาวะเลือดออกในสมอง  มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ภายในไม่กี่วินาที หรือนาที  มีหลายอาการที่จะใช้สังเกตภาวะเลือดออกในสมอง  เช่น   ความผิดปกติของใบหน้า   แขนอ่อนแรง  และมีปัญหาทางการพูด  หากสังเกตว่ามีอาการอันหนึ่งอันใดหรือมากกว่าควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที  อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น  ปวดศีรษะอย่างรุนแรงฉับพลัน  หมดสติ อาเจียน  คอเคล็ด   เกิดอาการชาหรือภาวะอ่อนแรง ขยับใบหน้าแขนหรือขาลำบากในซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย รู้สึกวิงเวียนและสูญเสียการทรงตัว  ไวต่อแสง  กระสับกระส่ายและสับสน  และ  ชัก

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะเลือดออกในสมอง  ภาวะเลือดออกในสมองทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างถาวร หรือแม้กระทั่งอันตรายถึงชีวิตได้  ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้มีดังนี้  ความอ่อนแรงหรืออัมพาต สูญเสียความรู้สึกซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย กลืนลำบาก เมื่อยล้าอย่างรุนแรงและมีปัญหาในการนอนหลับ  ปัญหากับการพูดการอ่านและการเขียน  ปัญหาการมองเห็น  เช่น ภาพซ้อน หรือตาบอดบางส่วน  ปัญหาความจำและสมาธิ  ปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายหรือท้องผูก  การเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพและพฤติกรรม ปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า และอาการชัก มักจะดีขึ้นเมื่อร่างกายได้รับการฟื้นฟู  นอกจากนั้น หากเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ อาจมีความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับ  หลอดเลือดดำอุดตัน ปอดบวม  และภาวะหดรั้งของกล้ามเนื้อ

สาเหตุของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง    มักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดเสี่ยงกับการแตก ความดันโลหิตสูงอาจเกิดจาก รับประทานเกลือและน้ำตาลมากเกินไปและผลไม้หรือผักน้อยเกินไป  ไม่ออกกำลังกายมากพอ มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป  ความเสี่ยงของภาวะนี้มากขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ หลอดเลือดแดงในสมองโป่งพอง ความผิดปกติของผนังหลอดเลือดในสมอง  หลอดเลือดฝอยผิดปกติ  การใช้ยาละลายลิ่มเลือด การเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคเลือดแข็งตัวช้า การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน  มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ

การวินิจฉัย   แพทย์จะทำการตรวจเพื่อระบุประเภทของโรคหลอดเลือดสมองและตำแหน่งของสมองที่ผิดปกติ อาจวัดความดันโลหิตและวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ  ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และการแข็งตัวของเลือด  ตรวจสมองด้วย CT หรือ MRI เพื่อดูว่าสมองมีภาวะขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ หากจำเป็น

การรักษาภาวะเลือดออกในสมอง   ระยะเวลาในการรักษาที่โรงพยาบาลจะแตกต่างขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ  และความบาดเจ็บที่เกิดขึ้น

การรักษาด้วยยา  จะขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะเลือดออกในสมองและยารักษาโรคที่คนไข้ใช้อยู่แล้ว  เช่น หากมีภาวะเลือดออกในสมองและคนไข้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่มีผลในทางตรงกันข้าม เพื่อให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลในสมอง นอกจากนี้  อาจได้รับยาป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก  ยาลดความดันโลหิต  ยาขับปัสสาวะเพื่อใช้ในการลดความดันในสมอง หรือหากมีภาวะเลือดออกบนพื้นผิวรอบ ๆ เนื้อสมองแพทย์อาจให้ยา nimodipine

การผ่าตัด   หากมีภาวะเลือดออกในสมอง มีความเสี่ยงที่เลือดจะแข็งตัวและเกิดการอุดตันทำให้หยุดการไหลของน้ำไขสันหลังที่อยู่รอบ ๆ สมองและทำให้เกิดความดัน แพทย์อาจใส่ท่อระบายน้ำเพื่อระบายเอาของเหลวส่วนเกินออก หากมีภาวะเลือดออกในสมองในส่วนด้านหลังของสมอง อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อระบายเลือดออกไป   หากมีภาวะเลือดออกที่เกิดจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง คุณอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของการมีเลือดออกมากกว่านี้  นอกจากนี้ยังมีมีการผ่าตัดที่อื่น ๆ ได้อีก เช่น การใส่ขดลวดเพื่อหยุดการเลือดออก  อาจจะมีการผ่าตัดเปิดโดยการเปิดกะโหลกศีรษะคนไข้และห้ามเลือดในจุดที่มีเลือดไหล

การฟื้นฟูสมรรถภาพ หลังรับการรักษา  คนไข้อาจจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะและความสามารถหรือเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยและความพิการที่หลงเหลืออยู่  อาจใช้เวลายาวนานหลายปีกว่าจะหายเป็นปกติจากโรคนี้  ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพด้านต่าง ๆ จะช่วยกันจัดทำ โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนไข้แต่ละคน เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะและมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนไข้สามารถดูแลตนเองได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในระยะยาว

บทความที่ได้รับความนิยม