การเต้นบัลเลต์เป็นกีฬาที่น้อยคนนักจะทราบว่าเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยพัฒนาร่างกายและสมองไปในคราวเดียวกัน โดย อ.ดาริณี ชำนาญหมออาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความรู้ถึงประโยชน์ของการเต้นบัลเลต์ว่า เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีแบบแผนและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยผู้ฝึกต้องจัดระเบียบร่างกายและกล้ามเนื้อให้ถูกต้องตามหลัก เมื่อฝึกต่อเนื่องเป็นเวลานานร่างกายจะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมา ซึ่งการฝึกบัลเลต์ช่วยพัฒนาสมองของผู้ฝึกทั้งด้านความจำและสมาธิ เนื่องจากเป็นการเต้นที่มีท่าทางตายตัว ผู้ฝึกจึงต้องจดจำท่าทางให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีสมาธิและสติเพื่อรับรู้ว่าจัดระเบียบร่างกายได้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อมีสมาธิดี ก็ย่อมทำให้เรียนรู้ได้ไวจดจำสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น อีกทั้งขณะฝึกบัลเลต์ยังได้ฟังเพลงคลาสสิก ซึ่งมีผลวิจัยออกมาว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองและเพิ่มไอคิวได้ เคล็ดลับสำหรับการฝึกบัลเลต์ในผู้ใหญ่ให้ได้ผลก็คือ ต้องมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำได้ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ หมั่นฝึกฝนเป็นประจำ และมีความอดทนในการฝึก หากอยากมีสมองที่ฉับไว ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็สามารถฝึกบัลเลต์ได้เพียงแต่อาจใช้เวลาในการพัฒนาต่างกัน
สำหรับกีฬาที่ช่วยเสริมหัวใจให้แข็งแรง คือ การกระโดดเชือก เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับทั้งจากประเทศไทยและทั่วโลกว่าสามารถสร้างสุขภาพได้จริง ซึ่งจะเห็นได้จากการตั้งชมรมหรือสมาคมกระโดดเชือกในนานาประเทศ รวมไปถึงมีการจัดให้มีการแข่งขันในระดับนานาชาติทั้งในรูปแบบกระโดดคนเดียวและกระโดดพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน โดยพล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ ประธานโครงการกระโดดเชือกทางเลือกเยาวชนพ้นโรคหัวใจมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้คำแนะนำว่า การกระโดดเชือกเป็นการออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงและใช้กล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้หัวใจเต้นช้าลง สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ครั้งละปริมาณมาก จึงทำให้ปอดขยาย และกักเก็บออกซิเจนได้มากขึ้น นอกจากนี้การกระโดดเชือกยังเป็นการออกกำลังกายที่ต้องอาศัยการทรงตัวที่ดี เมื่อกระโดดเชือกเป็นเวลานาน จึงยิ่งส่งเสริมให้ร่างกายมีการทรงตัวที่ดี และช่วยลดปัญหาหกล้มหรือเดินเซ เมื่อเข้าสู่วัยชราได้ อีกทั้งในขณะที่กระโดดเชือกสายตาและเท้าต้องทำงานประสานกันตลอดเวลา จึงเป็นการเพิ่มความคล่องแคล่ว ว่องไว ให้แก่ระบบประสาทได้เป็นอย่างดี