วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การรับมือกับโรคมะเร็ง

การรับมือกับโรคมะเร็งในการทำงาน 
Coping with cancer and work

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งหรือต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง สมดุลชีวิตระหว่างบ้านและที่ทำงานอาจได้รับผลกระทบจนรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากจะยอมรับ ซึ่งผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงไร โดยทั่วไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับชนิดของงานที่คุณทำ

สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง

คุณควรแจ้งหัวหน้างานหรือแผนกบุคคลให้ทราบโดยเร็วว่าคุณเป็นมะเร็ง เพราะโดยส่วนใหญ่คุณต้องหยุดงานบ่อยกว่าปกติเนื่องจากอาการป่วยหรือเพราะต้องไปตามนัดของแพทย์ คุณจึงควรปรึกษานายจ้างในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • อธิบายให้นายจ้างทราบว่ามะเร็งที่เป็นจะมีผลกระทบกับงานอย่างไร ซึ่งอาจต้องขอเอกสารจากแพทย์ประกอบคำอธิบายเพื่อให้มีความเข้าใจโดยง่าย
  • หากเป็นไปได้อาจเปลี่ยนงานที่ทำอยู่เป็นประจำ มาทำงานที่มีการยืดหยุ่นของเวลาในการทำงานมากขึ้น
  • ระเบียบและวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อคุณต้องหยุดพักงานเนื่องจากอาการป่วย
  • สิทธิและสวัสดิการการรักษาพยาบาล
  • การสนับสนุนและการให้คำปรึกษา
  • การช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อคุณจะกลับมาทำงานอีกครั้ง
การยังคงทำงานเป็นสิ่งดีที่จะช่วยดึงความคิดของคุณออกจากภาวะเจ็บป่วย และทำให้คุณรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป
 
ข้อกังวลทางการเงิน

หากคุณทำงานได้น้อยลงหรือต้องหยุดงานเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงินของคุณ ซึ่งการนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ อาจจะยิ่งทำให้ปัญหาภาวะทางการเงินแย่ลง ดังนั้นคุณควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ไว้ด้วย
  • ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการไปพบแพทย์ หรือจากภาระที่อาจเพิ่มขึ้นอื่นๆ
  • การจัดการกับรายได้ที่ลดลง
  • ความครอบคลุมประกันสุขภาพที่คุณมีอยู่
  • การชะลอแผนการใช้เงิน เช่น การย้ายบ้าน การท่องเที่ยว
  • แผนการเกษียณอายุรวมถึงเงินบำนาญ
คุณอาจเริ่มต้นด้วยการจัดทำเอกสารทางการเงินเพื่อระบุความต้องการทางการเงิน โดยอาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือองค์กรการกุศล เพื่อขอรับคำแนะนำและควรสำรวจหนี้สินในปัจจุบันว่ามีเท่าไหร่ รวมถึงการหารือกับเจ้าหนี้ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการทางการเงินของคุณ
สิ่งต่อไปนี้อาจช่วยในการบริหารจัดการทางการเงินของคุณได้
  • จัดทำแผนการเงิน โดยคำนวณรายรับและรายจ่าย ตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก
  • ตรวจสอบทรัพย์สินการจำนองต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับผลตอบแทนสูงสุด และควรคำนึงถึงอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรม
  • ตรวจสอบและเปลี่ยนผู้ให้บริการที่จำเป็นต่างๆ ภายในบ้าน ที่ทำให้คุณประหยัดมากที่สุด เช่น ตัวแทนจำหน่ายและจัดส่งก๊าซที่ใช้ในครัวเรือน
  • ตรวจสอบสิทธิการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น เงินชดเชยกรณีไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการเจ็บป่วย ซึ่งคุณอาจมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือเงินชดเชยจากการเจ็บป่วย โดยควรปรึกษานายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อขอรับสิทธิที่คุณควรได้จากหน่วยงานต่างๆ
 
การจัดการกับความเหน็ดเหนื่อยในที่ทำงาน

โรคมะเร็งและผลต่อเนื่องจากการรักษา มักทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและอ่อนเพลียกว่าปกติ อาจทำให้มีปัญหาขาดสมาธิในการทำงาน หรือรู้สึกมีแรงจูงใจน้อยในการทำงาน ง่วงนอนในระหว่างวันและอาจมีความบกพร่องในการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณ
ข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณเอาชนะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการทำงานได้
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป ควรดื่มน้ำเปล่าแทนชาหรือกาแฟเพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นอยู่เสมอ
  • วางแผนการทำงานของคุณในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ แบ่งงานให้สอดคล้องกับแผนการรักษาที่แพทย์นัด
  • นอนหลับให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรนอนกลางวันตลอดทั้งวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ง่ายๆเช่นการเดิน โดยอาจกำหนดเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายให้ได้ 150 นาที หรือ 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และได้พลังงานที่พอเพียง
  • จัดการกับเวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เลือกวิธีการเดินทางไปทำงานที่ใช้เวลาน้อยลง หรือรับงานมาทำที่บ้าน
  • พักช่วงสั้นๆ ระหว่างทำงานเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายระหว่างวัน
  • ปรึกษานายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยลดภาระงานหรือสลับสับเปลี่ยนหน้าที่การทำงาน
 
การกลับเข้าทำงานใหม่

การต้องกลับไปทำงานหลังจากหยุดงานเป็นเวลานานอาจทำให้คุณรู้สึกหวั่นเกรง แต่การกลับไปทำงานได้อีกจะเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่าการรักษาโรคกำลังเป็นไปอย่างราบรื่นและคุณกำลังจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรจะติดต่อสื่อสารให้นายจ้างรับทราบเกี่ยวกับอาการป่วยของคุณตลอดช่วงเวลาที่คุณหยุดพักรักษาตัวไป เพื่อที่นายจ้างจะได้เข้าใจและมีความคาดหวังที่ถูกต้องเมื่อคุณกลับจะเข้าทำงานอีกครั้ง
คุณสามารถกลับมาทำงานได้ง่ายขึ้นโดย
  • ปรึกษากับนายจ้างเรื่องการกลับมาทำงานและความช่วยเหลือต่างๆ ที่คุณต้องการ
  • ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานเป็นระยะ เพื่อให้รู้สึกว่าคุณยังเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน
  • การกลับไปทำงานอาจเริ่มจาก 2-3 วันต่อสัปดาห์และค่อยๆเพิ่มจนเป็นปกติ
  • หาทางปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานที่เหมาะกับตัวคุณ

บทความที่ได้รับความนิยม