วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยุงก้นปล่องพาหะมาลาเรีย



สาเหตุการเกิดโรคไข้มาลาเรีย 

เกิดจากเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว หรือโปรโตซัว (Protozoa) เช่นเดียวกับบิดอะมีบา มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค คือต้องถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดจึงจะเป็นโรค หรือไม่ก็อาจเกิดจากการได้รับเลือดจากคนที่มีเชื้ออยู่ 


อาการโรคไข้มาลาเรีย 

อาการจะเกิดหลังจากได้รับเชื้อโดยถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10-14 วัน (แต่อาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้) ไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม จะเกิดทุก 2 วัน ส่วนไข้ที่เกิดจากเชื้อ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ จะเกิดทุก 3 วัน ใน 2-3 วันแรก อาจมีอาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวคล้าย ไข้หวัดใหญ่ ต่อมาจึงจะมีอาการไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย 


วิธีการป้องกัน 

(1) ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง 

(2) ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง 

(3) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง 

(4) แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา 

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

กินหมูดิบ….ถึงตาย ไม่ใช่แค่หูดับ



โรคไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากหมู/สุกรสู่คน โรคไข้หูดับเป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วโลก โดยมักพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2548 พบมีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในชั้นต้นของการระบาดครั้งนี้ มีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน 

โรคไข้หูดับ พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุแต่ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดจะพบโรคเกิดในผู้ ใหญ่ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง อาจเพราะเพศชายทำงานสัมผัสกับหมูมากกว่าเพศหญิง 

ในประเทศไทยมีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คนในปี พ.ศ. 2530 และยังมีรายงานพบโรคไข้หูดับในอายุน้อยที่สุด คือ ในเด็กอายุ 1 เดือน 1 ราย และพบว่า ประมาณ 88% ของผู้ป่วย ดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวกับคนดื่มสุรามักกินหมูสุกๆดิบๆซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการติดเชื้อโรคนี้ 


การติดเชื้อสู่คน 


การติดเชื้อไข้หูดับไม่ได้เกิดจากระบบการหายใจ แต่เป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย (บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลก็ได้) หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง หมายรวมถึงผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ 

โรคนี้ระบาดอยู่ในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงหมูรวมทั้งประเทศไทย มักพบในชุมชนที่มีการเลี้ยงหมู ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ และน่าน 

มีรายงานความเสี่ยงการติดโรคนี้มากขึ้น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยตัดม้ามออก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ 

จากรายงานที่มีการรวบรวมทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น อายุที่พบจากการศึกษาในประเทศไทย เฉพาะในปี พ.ศ. 2554 พบว่าเกิดโรคอยู่ระหว่างอายุ 29-82 ปี 


อาการของผู้ที่ติดเชื้อ 


การติดเชื้อจากสุกรไปสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่สุก การติดเชื้อทางการหายใจ มีโอกาสน้อยและไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรง อาการที่พบ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบภาวะเยื่อหุ้มสมอง บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรง บางรายติดเชื้อในเยื่อหุ้มหัวใจแบบกึ่งเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก 


อาการทั่วไป 


- มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน ปวดศีรษะ 


อาการเฉพาะ 


1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก หูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ 

2. ติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

3. กลุ่มอาการ Toxic Shock Syndrome 

4. กลุ่มอาการอื่น ได้แก่ ข้ออักเสบ หรือลิ้นหัวใจอักเสบ 


วิธีการรักษา 


การรักษาไข้หูดับ คือการให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาเซฟไตร อะโซน (Ceftriaxone) เข้าหลอดเลือดดำ ในรายที่แพ้ยาดังกล่าวอาจใช้ยา แวนโคมัยซิน (Van comycin) ทั้งนี้เชื้อมักดื้อต่อยา อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาซัลฟา(Sulfa-group) 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่รอดชีวิตมา ยังอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น ความผิดปกติในการทรงตัว เนื่องจากเชื้อได้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรือหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นกัน 


วิธีการป้องกัน 


การป้องกันไข้หูดับทำได้โดย 

1. สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม ระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมู/สุกรทุกขั้นตอน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้ 

2. ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสสุกร และเนื้อสุกร 

3. เมื่อเกิดแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกร 

4. กำจัดเชื้อจากฟาร์ม โดยการเลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหมู 

5. ไม่รับระทานเนื้อหมูที่ไม่สุกดี เช่น จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุกพอ หรือ ลาบสุกๆดิบๆ เป็นต้น 

6. ไม่กินหมูที่ป่วย หรือหมูตายจากโรค 

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความดันโลหิตสูง...เพชฌฆาตเงียบ!!









ในอดีตอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ซึ่งมีการดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายกินอยู่อย่างไทย ทำให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงต่ำ แต่ในสภาวะปัจจุบันความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนไทยเกิดความเครียดส่งผลให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีการระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ประมาณไว้ว่าจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั่วโลก จาก 194 ประเทศ มีจำนวนถึง 970 ล้านคน โดย 330 ล้านคนอยู่ในประเทศพัฒนา และ 640 ล้านคนอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และในปี 2025 คาดว่าจะมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน 

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย อาทิ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย 



ความดันโลหิต (blood pressure) หมายถึง ความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อปั๊มเลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความดันภายในหลอดเลือดนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่หัวใจกำลังคลายตัวก็ตาม เพราะจะมีการไหลเวียนของเลือดอยู่ตลอด ดังนั้นจึงเกิดความดันในหลอดเลือดตลอดเวลา โรคความดันโลหิตสูง หรือ ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) เป็นโรคพบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด โดยพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ในบางประเทศพบโรคนี้ได้สูงถึง 50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบโรคนี้ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการรักษา และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง 

เป็นโรคที่มักไม่มีอาการ จากการที่เป็นโรคเรื้อรังที่รุนแรง ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ และไม่มีอาการ จึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า “เพชฌฆาตเงียบ (Silent killer)” ทั้งนี้ส่วนใหญ่ของอาการจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นอาการจากผลข้างเคียง เช่น จากโรคหัวใจ และจากโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ เป็นอาการจากโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น อาการจากโรคเบาหวาน หรือ จากโรคอ้วน หรือเป็นอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง 

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดย 

- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ ไม่ให้เกิดโรคอ้วน และน้ำหนักตัวเกิน และจำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารเค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ชนิดไม่หวานให้มากๆ 

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามสุขภาพ 

- พักผ่อนให้เพียงพอ 

- รักษาสุขภาพจิต 

- ตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจสุขภาพ) ซึ่งรวมถึงตรวจวัดความดันโลหิต เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี หลังจากนั้นตรวจสุขภาพบ่อยตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ

บทความที่ได้รับความนิยม