วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ส่อระบาด.........ไข้คอตีบ



โรคคอตีบ (Diphtheria) หรือไข้คอตีบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบและมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ อาจทำให้เสียชีวิตลงได้ จากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย ระยะฟักตัวจากการติดเชื้อจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ส่วนเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ ในบางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ 

ตำแหน่งที่จะพบการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ 

1. ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น 

2. ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้ 

3. ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู 

โรคคอตีบพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักไม่พบในเด็กอ่อนที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเด็กช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ ซึ่งจะหมดไปเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน โดยทั่วไปในประเทศที่ยังไม่พัฒนามักพบโรคเกิดในเด็กเล็ก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อเกิดโรคมักพบในวัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ซึ่งต้องฉีดทุกๆ 10 ปี ปัจจุบันโรคไข้คอตีบพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ 

การดูแลตนเอง หรือ การดูแลเด็ก คือ การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าว เนื่องจากโรคคอตีบเป็นโรคติดต่อได้ง่าย รวดเร็ว และรุนแรง ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วย ควรพบแพทย์เสมอ เพื่อขอรับคำแนะนำ อาจต้องตรวจเชื้อจากโพรงหลังจมูก และอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ หรือ ฉีดกระตุ้น (ในคนที่เคยได้วัคซีนมาก่อนแล้ว) รวมทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อตรวจพบเชื้อทั้งๆที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับคำ แนะนำของแพทย์ 

การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวมโรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน ฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เป็นระยะๆจาก อายุ 2 เดือน จนถึงอายุ 6 ปี ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุข

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

ภัยเงียบ ! ! ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)


ไวรัสตับอักเสบซี ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในตับ สามารถทำให้เกิดการตับอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังตลอดจนตับแข็งและมะเร็งตับ ความรุนแรงของไวรัสชนิดนี้คือ เป็นตับอักเสบเรื้อรังมากกว่าชนิดอื่น และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ทำได้ก็เพียงการให้ยาลดไวรัสและป้องกันการเกิดมะเร็งตับเท่านั้น 

ปัจจัยเสี่ยงและการติดต่อ 
ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่อทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันแต่มีผู้ป่วยบางท่านได้รับเชื้อโดยไม่ทราบแหล่งที่มาปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 

• ผู้ที่เคยได้รับเลือด และ สารเลือดก่อนปี ค.ศ. 1992 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 

• เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้รับอุบัติเหตุถูกเข็มตำ 

• ผู้ป่วยติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 

• ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี พบได้ร้อยละ 5 

• ผู้ที่สำส่อนทางเพศ หรือ รักร่วมเพศ 

• ไดรับเชื้อจากการสักตามตัว 

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี 
อาการของตับอักเสบเฉียบพลันจาก ไวรัสตับอักเสบซี 

1. ไม่มีอาการ 

2. อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดและลงท้ายด้วยตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลืองพบได้เพียง 10-15% เท่านั้น ที่เหลือไม่พบ จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย 

อาการตับอักเสบเรื้อรังจาก ไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยเพลีย ไม่มีแรง มึนงง สมองไม่สั่งงานและเมื่อตับอักเสบไปเรื่อยๆ จึงพบอาการตับแข็ง นอกจากนั้นอาจพบอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติ เช่น โรคไต โรคผิวหนังผื่นตามผิวหนัง เป็นต้น

การรักษาโรค ไวรัสตับอักเสบซี 
ตับอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันมักไม่ค่อยมีอาการ จึงไม่มีการรักษาใดๆ เป็นเพียงการดูแลรักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ถ้าอ่อนเพลียก็ให้พักผ่อนเยอะๆ ไม่นอนดึก หลีกเลี่ยงอาหารมัก เป็นต้น 

ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะกลายเป็นโรคเรื้อรังและมีการดำเนินของโรคไปเรื่อยๆ จนถึงสภาพตับเสื่อมและตับวายในที่สุด ปัจจุบันยาที่ใช้เป็นมาตรฐาน ในการรักษาคือ การให้ยา 2 ตัวร่วมกัน คือ ยาฉีดในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอนร่วมกับยาไรบาไวริน ซึ่งเป็นยารับประทาน ยาทั้งสองจะให้ผลดีคือกำจัดไวรัสให้หมดไปและไปเป็นซ้ำอีกหลังหยุดยาซึ่งให้ผลเฉลี่ยมากกว่า 50% 

การป้องกันไวรัสตับอักเสบซี 
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อตับ ตั้งแต่การติดเชื้อเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ แม้ว่าการคัดกรองเลือดในปัจจุบันจะมีความแม่นยำมากขึ้น ร่วมกับการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยายาเสพติด ทำให้การติดเชื้อจากแหล่งเหล่านี้ลดลง แต่มีแนวโน้มจะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสัก การเจาะ ร่วมกัน ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน และเนื่องจากวัคซีนสำหรับการป้องกันยังไม่ค้นพบ ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงถือว่าดีที่สุด 

บทความที่ได้รับความนิยม