วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

WHO เตือนทั่วโลกระวังไวรัสตัวใหม่คล้ายโรคซาร์ส

องค์การอนามัยโลก ประกาศเตือนทั่วโลกให้ระวังไวรัสตัวใหม่คล้ายโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงระบาด

WHO เตือนทั่วโลกระวังไวรัสตัวใหม่คล้ายโรคซาร์ส



 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศเตือนประชาชนทั่วโลกให้ระวังไวรัสตัวใหม่มีฤทธิ์คล้ายโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ซึ่งทำให้ชายชาวกาตาร์ล้มป่วยและยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงลอนดอน ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยอีก 1 รายเสียชีวิตแล้วที่ซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ชายวัย 49 ปี ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียูของโรงพยาบาลในกรุงโดฮา ของกาตาร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและไตวาย จากนั้นจึงถูกส่งตัวมายังประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ส่วนผู้ป่วยอีกรายเสียชีวิตในช่วงต้นปีนี้ที่ซาอุดีอาระเบีย ด้วยเชื้อไวรัส แต่ทางการซาอุฯ กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า โรคดังกล่าวมาจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ แต่ไม่ใช่โรคซาร์ส ซึ่งเคยระบาดหนักในประเทศจีนเมื่อปี 2546 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 800 คนทั่วโลก โฆษกองค์การอนามัยโลก แถลงว่า ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสตัวใหม่ ยังไม่เคยพบผู้ป่วยลักษณะนี้มาก่อน และยังไม่ทราบว่าติดต่อได้อย่างไร

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ไข้คอตีบระบาดหนักอีสาน

ไข้คอตีบระบาดหนักอีสาน



        สำหรับสถานการณ์การระบาดล่าสุด มีความรุนแรงใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดย คร.คาดการณ์เส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย
   ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อคือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
   เชื้อจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก โพรงหลังจมูก ลำคอ แต่อาจจะพบได้ในผิวหนัง นอกจากนี้เชื้อมีโอกาสจะอยู่ในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จากผู้ที่คลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ การไอจาม
   อาการพบคือ มีไข้แต่ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ จากนั้นเสียงจะแหบลงเรื่อยๆ น้ำมูกอาจมีเลือดปน และอาจมีแผลทางผิวหนัง การรักษาจะให้ยาต้านสารพิษ ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีการรักษาประคับประคองตามอาการ



บทความที่ได้รับความนิยม